โฆษณาต่อต้านคอรัปชั่น

วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

นอร์เวย์


ประเทศนอร์เวย์ กรุงออสโลว์

  
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง
ตั้งอยู่บนคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย ซึ่งอยู่ทางเหนือของทวีปยุโรป

พื้นที่
385,364 ตร.กม.

เมืองหลวง
กรุงออสโล เป็นเมืองหลวงและเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีประชากรราว 500,000 คน

สภาพทางภูมิศาสตร์
นอร์เวย์ตั้งอยู่บนคาบสมุทรสแกนดิเนเวียซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของยุโรป มีพื้นที่ 385,155 ตารางกิโลเมตร (ประมาณร้อยละ 60 ของประเทศไทย) นอร์เวย์มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับทะเลบาร์เร็นท์ ทิศใต้ติดกับทะเลเหนือ ทิศตะวันออกติดกับสวีเดน ฟินแลนด์ และรัสเซีย และทิศตะวันตกติดกับทะเลนอร์เวย์ พื้นที่ส่วนใหญ่ของนอร์เวย์เป็นฟยอร์ด ธารน้ำแข็ง ทะเลสาบ หุบเขา ภูเขา และหน้าผาสูงชันที่ปกคลุมด้วยหิมะ

ภูมิอากาศ
เนื่องจากนอร์เวย์ตั้งอยู่ใกล้กับเขตขั้วโลกเหนือจึงมีอากาศหนาวเย็นถึง 6 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เมษายน ซึ่งจะมีอุณหภูมิประมาณ 0 ถึง ติดลบ 40 องศาเซลเซียส โดยอากาศในกรุงออสโลจะหนาวที่สุดในเดือนธันวาคมและมกราคม (อาจติดลบถึง 20 องศาเซลเซียส)และมีหิมะตกตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนเมษายน ในช่วงฤดูหนาวระยะเวลากลางวันจะสั้นกว่าเวลากลางคืน โดยในเดือนธันวาคม-มกราคม จะมีแสงแดดเพียงวันละ 0-6 ชั่วโมงเท่านั้น ฤดูร้อนในนอร์เวย์มีระยะเวลาเพียง 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม โดยมีอุณหภูมิประมาณ 20-25 องศาเซลเซียส ในช่วงนั้นจะมีระยะเวลากลางวันยาวนานกว่าระยะเวลากลางคืน
ประชากร
สถิติเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548 นอร์เวย์มีประชากร 4,606,363 คน แยกเป็นชาย 2,284,070 คน หญิง 2,322,293 คน กรุงออสโลเป็นเมืองหลวงและเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศมีประชากร 529,846 คน รองลงมาได้แก่ เมือง Bergen 239,209 คน เมือง Trondhiem 156,161 คน เมือง Stavanger 113,991 คน และเมือง Baerum 104,690 คน อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร 0.55 ต่อปี
ภาษาและศาสนา
นอร์เวย์ใช้ภาษานอร์เวย์เป็นภาษาประจำชาติ (Bokmal และ Nynorak) คนนอร์เวย์มากกว่าร้อยละ 90 สามารถพูดอ่านเขียนภาษาอังกฤษได้ดี คนนอร์เวย์ร้อยละ 86 นับถือศาสนาคริสต์ (Church of Norway-Evangelical Lutheran)               
วันชาตินอร์เวย์
วันที่ 17 พฤษภาคม
การเมืองการปกครอง
นอร์เวย์มีระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในฐานะ Head of state มีการแบ่งเขตปกครองเป็น 19 Countries และเขตการปกครองพิเศษ Svalbard นอกจากนี้ นอร์เวย์ยังมีรูปแบบการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล (Mucnipality) แต่เรียกว่า Kommune ซึ่งมี 435 Kommune ทั่วประเทศ
ระบบการเมือง
ระบบการเมืองนอร์เวย์มีรากฐานมาจากรัฐธรรมนูญปี 1814 โดยตั้งอยู่บนหลัก 3 ประการ คือ อำนาจอธิปไตยของปวงชน การแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ และสิทธิมนุษยชน เป็นระบบรัฐสภาประกอบด้วยสมาชิก 165 คน มีการเลือกตั้งทุกๆ 4 ปีมีหน้าที่ในการออกกฎหมายต่างๆ โดยมีคณะบุคคลจำนวน 6 คน เรียกว่า Presidium นำโดยประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ในการพิจารณาบรรจุร่างกฎหมายเข้าสภาควบคุมการประชุมและอื่นๆ
เศรษฐกิจ
นอร์เวย์มีระบบเศรษฐกิจแบบเสรี สถานะทางเศรษฐกิจของนอร์เวย์มีเสถียรภาพและมั่นคง รายได้หลักของนอร์เวย์ขึ้นอยู่กับน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นร้อยละ 50-55 ของรายได้จาการส่งออกของนอร์เวย์ นอร์เวย์ไม่ได้เป็นสมาชิก EUแต่มีความตกลง EEA กับ EU และใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ทางการค้าเช่นเดียวกับประเทศใน EU มีการปกป้องภาคเกษตรกรค่อนข้างสูง
เศรษฐกิจที่มั่นคงและรายได้จากน้ำมันทำให้เงินโครนนอร์เวย์มีค่าแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินตราสกุลต่างๆ โดยปัจจุบัน 1 เหรียญสหรัฐเท่ากับประมาณ 6.2-6.3 โครนนอร์เวย์ หรือ 1 โครนนอร์เวย์เท่ากับประมาณ 6 บาท
ประเทศคู่ค้าสำคัญของนอร์เวย์ ได้แก่ สมาชิกสหภาพยุโรป (อังกฤษ เยอรมัน สวีเดน เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส อิตาลีและเบลเยี่ยม) สหรัฐ แคนาดา ญี่ปุ่น จีน(รวมฮ่องกง) และไต้หวัน สินค้าออกที่สำคัญของนอร์เวย์ ได้แก่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เหล็ก และเหล็กกล้า อลูมิเนียม เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง (รวมอุตสาหกรรมต่อเรือ) ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ เยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์ประมง ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์ขนส่งทางเรือ เคมีภัณฑ์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ คอมพิวเตอร์ กระดาษและอาหาร
สังคมวัฒนธรรม
นอร์เวย์เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและมั่นคงของมนุษยชาติ (Human security) คนนอร์เวย์จึงมีใจเปิดกว้างสำหรับคนชาติอื่น และพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ด้อยโอกาสกว่า ทำให้คนต่างชาติที่ได้รับสัญชาตินอร์เวย์อยู่ประมาณร้อยละ 8 ของจำนวนประชากรทั้งหมด (จำนวน 364,981คน สถิติเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548) ส่วนมากเป็นชาวปากีสถาน ชาวเคิร์ด โซมาเลีย และเวียดนาม)
สภาพความเป็นอยู่
ค่าครองชีพ เนื่องจากนอร์เวย์เป็นประเทศที่ร่ำรวย โดยมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเฉลี่ยสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก คือประมาณ 34,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ทำให้ค่าครองชีพในนอร์เวย์จัดว่าสูงมากเป็นลำดับที่ 1 ในยุโรป การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ร้อยละ 25 ของราคาสินค้า และภาษีสิ่งเแวดล้อม ทำให้ค่าครองชีพในนอร์เวย์สูงกว่าประเทศไทยประมาณ 5-6 เท่า
ความเป็นอยู่ในนอร์เวย์จัดว่าสะดวก และปลอดภัย มีห้างสรรพสินค้า ร้านขายสินค้าจำนวนมากในเมือง นอกจากนี้ยังมีห้างสรรพสินค้านอกเมืองอีกหลายแห่งรวมทั้ง Supermarket ตามแหล่งชุมชนต่างๆทำให้สามารถหาซื้อสินค้าเกือบทุกชนิด/ประเภท แต่สินค้าทุกอย่างจะมีราคาแพง และโดยที่มีคนเอเชียอาศัยอยู่ในนอร์เวย์เป็นจำนวนไม่ใช่น้อย จึงมีคนไทย คนจีนและคนเวียดนาม เปิดร้านอาหารจีน ร้านอาหารไทย และร้านขายของชำที่มีส่วนประกอบและเครื่องปรุงอาหารจากเอเชียมากมายหลายชนิด ทั้งข้าว และผักสดจากเมืองไทย แต่สินค้าจะสูงกว่าในประเทศไทย อย่างน้อย 3-4 เท่า ถ้าเป็นผักผลไม้สดจะมีราคาสูงกว่าเมืองไทย 10 เท่าขึ้นไป
แหล่งบันเทิงค่อนข้างจำกัดและมีราคาแพง ความบันเทิงในบ้านจากโทรทัศน์และโรงภาพยนตร์ในนอร์เวย์ส่วนมากจะเป็นภาพยนตร์อเมริกัน โดยเปิด Sound Track และมี Norwigian Subtitle ยกเว้นภาพยนตร์การ์ตูนและรายการสำหรับเด็ก จะพากย์ภาษานอร์เวย์โดยไม่มี English Subtitle
การคมนาคม
ถนนในนอร์เวย์มีสภาพดี มีแผนที่บอกเส้นทางอยู่ทั่วไป ถนนส่วนใหญ่มีช่องทางวิ่งเล็ก และวิ่งสวนทาง (two-way traffic) แต่ก็มีความปลอดภัยสูงเพราะมีการจำกัดความเร็วรถยนต์ที่ 80-90 ก.ม./ ชั่วโมง สำหรับเขตชุมชนในเมือง ถนนหลายสายมีกล้องตรวจจับความเร็วอัตโนมัติ คนนอร์เวย์เคร่งครัดในการปฏิบัติตามกฎจราจร อุบัติเหตุบนท้องถนนจึงเกิดขึ้นน้อย ผู้ฝ่าฝืนไม่เคารพกฎจราจรจะถูกปรับในอัตราที่สูงมาก คือประมาณ 500-2,500 โครนนอร์เวย์ รถยนต์ในนอร์เวย์วิ่งด้านขวา ที่จอดรถส่วนมากต้องเสียค่าที่จอดเป็นรายชั่วโมง ราคาชม.ละ 12-20 โครนนอร์เวย์ ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. ยกเว้นวันอาทิตย์ ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ระดับ 9-12    โครนต่อลิตร ผู้ขับขี่จะต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด หากกระทำผิดนอกจากถูกปรับแล้วยังอาจถูกยึดใบอนุญาตขับขี่รถยนต์อีกด้วย                                                  
คนไทยในนอร์เวย
์ จากสถิติของทางการนอร์เวย์เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548 มีคนไทยอาศัยอยู่ในนอร์เวย์ 6,803 คน มีสัญชาตินอร์เวย์แล้ว 1,803 คน โดยมากกว่าร้อยละ 90 เป็นสตรีที่แต่งงานมาอาศัยกับสามีนอร์เวย์ เมืองที่มีคนไทยอาศัยอยู่มาก ได้แก่ กรุงออสโล เมือง Bergen และบริเวณรอบ และเมือง Stevanger และบริเวณรอบเมืองต่างๆ อื่นอีก เช่น เมือง Trondheim Tromso และเมือง Odda ในนอร์เวย์มีวัดไทย 1 วัด ชื่อวัดไทยนอร์เวย์ ตั้งอยู่ในเขต Frogner Kommune  ห่างจากกรุงออสโลไปประมาณ 27 กิโลเมตรโดยมีพระประจำวัดอยู่ 2 รูป
ข้อมูลอื่นๆ ทั่วไป
นอร์เวย์ใช้ไฟฟ้า 220 โวลต์ ใช้ปลั๊กตัวผู้ขากลม 2 ขา
ในออสโลมีร้านอาหารไทย 4 ร้าน
ค่าโดยสารประจำทางเริ่มที่ 20 โครน
ทางการนอร์เวย์เข้มงวดในเรื่องการนำอาหารเข้านอร์เวย์มาก โดยเฉพาะเนื้อสัตว์
กฎหมายเข้าเมือง
-ผู้ที่มีหนังสือเดินทางทูตและราชการของไทยสามารถเดินทางไปนอร์เวย์ได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าและสามารถพำนักอยู่ได้เป็นระยะเวลา 90 วัน
- ส่วนผู้ที่ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทยต้องขอวีซ่าจาก

สถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย 
ตั้งอยู่ที่ อาคาร UBC II ชั้น 18  เลขที่ 591 ถนนสุขุมวิท ซอย 33 กรุงเทพฯ 10110
โทร 02 204 6500 โทรสาร 02 262 0218 อีเมล์ emb.bangkok@mfa.no     
เว็บไซท์  http://www.emb-norway.or.th

การขอวีซ่า
จะต้องมีหนังสือเชิญจากบุคคลหรือองค์กรในประเทศนอร์เวย์ และจะต้องมีเอกสารแสดงฐานะทางการเงินที่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลาที่ผู้ขอวีซ่าพำนักอยู่ในนอร์เวย์
(วันละ 500 โครนนอร์เวย์  หรือ น้อยกว่าหากพำนักอยู่กับครอบครัวหรือเพื่อน)   หรือมีหลักประกันทางการเงินจากบุคคลที่อ้างอิง ผู้ขอวีซ่าจะต้องมีตั๋วเครื่องบินเดินทางไป-กลับ และมีประกันสุขภาพ
หากหน่วยงานของนอร์เวย์มีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าผู้ขอวีซ่าหรือผู้ที่เดินทางไปนอร์เวย์จะอยู่ในนอร์เวย์หรือประเทศในกลุ่มSchengen เกินกว่าระยะเวลาที่อนุญาตให้พำนักอยู่  บุคคลผู้นั้นก็จะไม่ได้รับอนุมัติวีซ่าหรือไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเมือง
สิ่งของที่อนุญาตให้นำติดตัวไปได้ และสิ่งของต้องห้าม
1. สิ่งของที่อนุญาตให้นำติดตัวไปได้  ได้แก่  
- สุรา (มีแอลกอฮอล์ 22-60 % ) จำนวน 1 ลิตร
- เหล้าไวน์ (2.5 – 22 %)  1.5 ลิตร  
- เบียร์ (2.5 – 4.7 %)  2 ลิตร   
- บุหรี่ 200 มวน 
- เงินสด มีมูลค่าไม่เกิน 25,000 โครนนอร์เวย์
2. สิ่งของต้องห้าม ได้แก่
- สิ่ง เสพติด ยาและสิ่งเป็นพิษ  (ยารักษาโรคสำหรับส่วนบุคคลต้องขออนุญาตก่อน)
- แอลกอฮอล์ ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 60 %
- อาวุธยุทโธปกรณ์
- พลุ
- มันฝรั่ง
- สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
- นกและสัตว์ป่า
- พืช
การแต่งกาย
- เนื่องจากอากาศในนอร์เวย์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา   ในช่วงฤดูร้อนอาจใส่เสื้อผ้าเนื้อบาง แต่ก็ควรมีเสื้อกันลม เสื้อกันฝน หรือร่ม ไว้ด้วย  การเดินทางในนอร์เวย์จะต้องเดินเท้าค่อนข้างมากจึงควรมีรองเท้าที่ใส่สบายไว้สำหรับเดิน
- ในฤดูหนาว อากาศหนาวเย็นมาก  ต้องมีเสื้อโค้ท ผ้าพันคอ ถุงมือ หมวก และรองเท้าที่บุกันความเย็น
- ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูใบไม้ผลิ มักมีฝนตก ควรมีเสื้อกันฝนและรองเท้าบู้ธ
- นอร์เวย์ฉลองวันชาติในวันที่ 17 พฤษภาคม  ประชาชนทั่วไปจะสวมใส่ชุดประจำชาติที่เรียกว่า “Bunad” คนต่างชาติก็ควรแต่งกายให้สุภาพด้วย
ศาสนา
- ประชากรส่วนใหญ่ของนอร์เวย์ประมาณ 85 %  นับถือศาสนาคริสต์นิกาย Evangelical Lutheran แต่ก็ไม่เคร่งศาสนา  มีเพียง 3 %  ที่ไปโบสถ์วันอาทิตย์  นอกจากนี้ มีคนที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายอื่นๆ ได้แก่ นิกาย Baptists  นิกาย Pentecostalists  นิกาย Methodists  และนิกาย Roman Catholics
- ส่วนศาสนาอื่นที่มีผู้นับถือมากรองลงไป คือ ศาสนาอิสลาม 
- สำหรับชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ สามารถไปทำบุญไหว้พระหรือร่วมกิจกรรมทางพุทธศาสนาได้ที่ “วัดไทย-นอร์เวย์”  ตั้งอยู่ที่  Trondheimsvegen 582 ,  2016 Frogner  โทร. (47) 6382 0130 หรือ
8532 8522  โทรสาร (47) 6382 0131 หรือ 6382 5591  เว็บไซท์  www.watthainorway.com
อีเมล์ pkamonram@hotmail.com  หรือ  kamonram@online.no

อาหารการกิน
- คนนอร์เวย์ส่วนใหญ่รับประทานอาหารเช้าช่วง 07.00 –08.00 น. อาหารกลางวันช่วง 11-00-12.00น. อาหารว่างช่วง 16.00 – 17.00 น.  อาหารค่ำ ช่วง 20.00-21.00 น. 
- อาหารที่จำหน่ายในนอร์เวย์จะต้องเคร่งครัดต่อกฎระเบียบเรื่องสุขลักษณะเป็นอย่างมาก จึงปลอดภัยต่อผู้บริโภค  คนนอร์เวย์บริโภคนม   ขนมปังสีน้ำตาล  และปลา เป็นจำนวนมาก 
- ราคาอาหารที่จำหน่ายในนอร์เวย์ค่อนข้างแพง
- น้ำจากก็อกน้ำมีความสะอาดเพียงพอที่จะดื่มได้
บุหรี่และสุรา
- ห้ามสูบบุหรี่ในอาคารสาธารณะ สำนักงาน โรงแรม บาร์ ภัตตาคาร (ยกเว้นภัตตาคารกลางแจ้ง)   และรถขนส่งมวลชน    การสูบต้องออกไปสูบนอกอาคาร             
- การดื่มสุรามีข้อกำหนดที่เข้มงวด ผู้ซื้อและผู้ดื่มเบียร์และไวน์ ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป  ผู้ซื้อและผู้ดื่มสุราต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ไวน์ สุรา และเบียร์ที่เข้มข้นมีจำหน่ายเฉพาะในร้าน Vinmonopolet ซึ่งเป็นร้านของรัฐบาล   ส่วนเบียร์สามารถซื้อได้ในร้านซุปเปอร์มาเก็ต ภัตตาคารที่จำหน่ายสุราต้องมี
ใบอนุญาต ห้ามดื่มสุราในสวนสาธารณะและข้างถนน และเมื่อขับรถห้ามดื่มสุราโดยเด็ดขาด
การต่อรองราคาสินค้า
- การซื้อสินค้าตามห้างร้านในประเทศนอร์เวย์ไม่มีการต่อรองราคา ต้องซื้อสินค้าตามป้ายแสดงราคา  ร้านค้าในนอร์เวย์ไม่มีส่วนลดให้กับลูกค้าประจำหรือลูกค้ารายใหญ่     (มีเพียงในตลาดขายของข้างถนนบางแห่งกับร้านขายของมือสองที่อาจลดราคาให้หากซื้อด้วยเงินสดจำนวนมาก)
- ในนอร์เวย์จะมีช่วงลดราคาสินค้า ปีละ 2 ครั้ง  คือ ช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ กับช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม
การสนทนาและปฏิบัติตัวเมื่อพบกับคนท้องถิ่น
- การทักทายกับคนนอร์เวย์ใช้การจับมือ โดยมีการสบตาโดยตรงและยิ้ม  คนนอร์เวย์จะแนะนำตัวเองด้วยการเรียกนามสกุล
- คนนอร์เวย์ถือว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกันและนิยมความสุภาพ เรียบร้อย ไม่ชอบคนที่โอ้อวดฐานะและความร่ำรวย   
- การพูดคุยกับคนนอร์เวย์   คนนอร์เวย์เป็นคนที่ตรงไปตรงมาและยึดถือข้อเท็จจริงเป็นหลักไม่ใส่อารมณ์ในการพูดจาและไม่ใช้ภาษากาย
- การสร้างมิตรภาพกับคนนอร์เวย์ต้องใช้เวลา  คนนอร์เวย์จะมีเพื่อนกลุ่มเล็กแต่ค่อนข้างเหนืยวแน่นและภูมิใจในมิตรภาพที่เต็มไปด้วยความซื่อตรงและจริงใจ  
มารยาทในการรับเชิญไปร่วมรับประทานอาหาร
- หากคนนอร์เวย์เชิญท่านไปรับประทานอาหารที่บ้าน ควรนำดอกไม้ ช็อคโกแลต ขนมไวน์หรือสุราต่างประเทศไปเป็นของกำนัลด้วยผู้ที่รับของขวัญจะเปิดของขวัญเมื่อได้รับทันที
- คนนอร์เวย์เป็นคนที่ตรงต่อเวลาทั้งในการทำงานและในงานสังคม จึงควรไปให้ตรงเวลาตามนัดหมาย 
- ผู้รับเชิญสามารถแสดงน้ำใจที่จะช่วยตระเตรียมข้าวของหรือช่วยเก็บข้าวของเมื่อ
รับประทานอาหารเสร็จ  เพราะคนนอร์เวย์ไม่มีคนรับใช้  ต้องทำงานบ้านด้วยตนเอง
- การรับประทานอาหารเป็นแบบตะวันตกใช้ส้อมและมีดเป็นหลัก ใช้ช้อนสำหรับ
อาหารที่เป็นน้ำใช้มือค่อนข้างน้อย
- ระหว่างรับประทานอาหารไม่ควรคุยเรื่องธุรกิจ  คนนอร์เวย์แยกธุรกิจกับชีวิตส่วนตัว
- เมื่อรับเชิญจากฝ่ายนอร์เวย์แล้ว ควรเป็นเจ้าภาพเชิญฝ่ายนอร์เวย์ด้วยเป็นการตอบแทน

มารยาททางธุรกิจ     
- การเจรจาธุรกิจในนอร์เวย์เป็นลักษณะที่ไม่เป็นทางการและมีการติดต่อสื่อสารกันโดยตรง แต่มีความจำเป็นต้องนัดหมายกันล่วงหน้าเป็นเวลานาน  ไม่ควรกำหนดการพบปะเจรจาในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงของการหยุดพักร้อน ตลอดจนช่วง 2 สัปดาห์ก่อนและหลังวันคริสต์มาส และช่วง 1 สัปดาห์ก่อนและหลังวันอีสเตอร์ 
- ควรส่งหัวข้อการเจรจาไปให้ฝ่ายนอร์เวย์ล่วงหน้าเพื่อการเตรียมตัว    
- วันนัดหมายควรไปตรงเวลา  การเจรจาควรพูดตรงประเด็น  ไม่พูดเยิ่นเย้อ คนนอร์เวย์ชอบเจรจาธุรกิจอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาน้อย   และจะไม่ขัดจังหวะเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งพูด จะถามคำถามต่อเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งพูดจบแล้ว

หากท่านจะอยู่อาศัยในประเทศนอร์เวย์
เป็นระยะเวลานาน โปรดแจ้งชื่อ และที่อยู่
ต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อประโยชน์ในการติดต่อ
หรือให้ความช่วยเหลือในกรณีจำเป็น
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล
(Royal Thai Embassy)
Eilert Sundts gate 4
0244 Oslo NORWAY
โทรศัพท์ (47) 22 12 86 60, 22 12 86 70
โทรสาร (47) 22 04 99 69, 204-9835
E-mail : mailto:thaiath@otenet.gr

การขอหนังสือเดินทางและขอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น